เที่ยวไปเรื่อยที่ เปือยน้อย

ไปแต่งชุดไทยใส่บาตรหน้าปราสาทหิน กินซาวร์โดแห่งเปือยน้อย ตามรอยคู่ผูกเสี่ยวแรกของขอนแก่น ยิ้มแป้นอุดหนุนสินค้าเกษตรพื้นบ้านออร์แกนิกชุมชน 

     คงจะมีไม่กี่อำเภอในไทยที่มีปราสาทหินโบราณตั้งตระหง่านอยู่กลางเมือง แต่ อ.เปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น มีสิ่งนั้น เรื่องรูปแบบศิลปะของเทวาลัยที่นี่ยังมีความเห็นต่างกันไป ถ้าอ้างอิงข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ท่านมีความเห็นว่าปราสาทเปือยน้อยน่าจะถูกสร้างขึ้นโดยรับอิทธิพลจากศิลปะเขมรโบราณแบบบาปวน ในศาสนาพราหม์-ฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย (นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่) ในขณะที่นักวิชาการบางส่วนรวมถึงกรมศิลปากรมีความเห็นว่า ปราสาทหลังนี้อาจสร้างขึ้นในลัทธิไศวนิกาย (นับถือพระศิวะ หรือ พระอิศวร) รูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะเขมรแบบคลัง-บาปวน-นครวัด 

    นั่นเป็นเรื่องของวิชาการทางโบราณคดีที่จำเขามาเล่าสู่กันฟังไว้พอเป็นความรู้ แต่ต่อให้ข้อมูลมีความเห็นต่างอย่างไร ท้ายที่สุดการมีกู่เปือยน้อยอยู่กลางอำเภอ ก็กลายเป็นจุดเด่นของเมืองให้คนรุ่นใหม่อย่างกลุ่ม “รักษ์ปราสาทเปือยน้อย” หยิบยกมาใช้สร้างอัตลักษณ์ให้บ้านเกิดของพวกเขาออกแสง ด้วยการสร้างประเพณีประดิษฐ์ที่เชื่อมโยงกับปราสาทขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่

     นโยบายพัฒนาตามแผนพัฒนาระดับอำเภอของกรมการปกครอง จังหวัดขอนแก่น ฉบับทบทวน ปี พ.ศ.2567 เปือยน้อยมีเป้าหมายการพัฒนาว่า “เปือยน้อยแหล่งอารยธรรม ก้าวล้ำผลิตภัณฑ์ชุมชน บนพื้นฐานการเกษตร ชุมชนอยู่ดีมีสุข”

     นับว่าโชคดีของเมืองนี้ ที่มีพลเมืองเข้มแข็งกลุ่มเล็ก ๆ คอยช่วยขับเคลื่อนเมืองด้วยใจทั้งที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แถมสิ่งที่ทำก็ทั้งยังสอดคล้องกับแผนพัฒนา (โดยบังเอิญหรือเปล่าไม่รู้) ซึ่งพวกเขากล่าวอย่างหนักแน่นว่า มันไม่สำคัญว่าความสำเร็จของการสร้างบ้านแปงเมืองนั้นมาจากใคร เพราะท้ายที่สุดผลประโยชน์ย่อมเกิดกับส่วนรวมเป็นสำคัญ 

ฟังแล้วได้ใจ จนอยากไปดูให้เห็นกับตาว่าอำเภอเล็ก ๆ อย่างเปือยน้อยเขาขับเคลื่อนเมืองไปถึงไหนบ้างแล้ว

ช็อปตลาดนัดวันเสาร์ ชิมชาวร์โดแห่งเปือยน้อย

     ผมไปถึงเปือยน้อยช่วงเย็นวันเสาร์ ลานคอนกรีตติดโรงพยาบาลฝั่งตรงข้ามปราสาทเปือยน้อยเต็มไปด้วยร้านค้า ถ้ามาวันอื่น ๆ ลานปูนตรงนี้จะเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย แต่ทุกวันเสาร์จะกลายร่างเป็นตลาดนัดย่อม ๆ ที่มีเสน่ห์ เพราะข้าวของส่วนใหญ่มาจากชาวบ้านในละแวกนี้ปลูกเอง หาเอง และเก็บมาขาย อย่างเช่น ไข่ผำ ผักพื้นบ้าน กระบอกไม้ไผ่สำหรับทำข้าวหลาม ตอนที่ไปเยือนเป็นช่วงหลังเกี่ยวข้าว คนเปือยน้อยจะเรียกว่า “ฤดูกินปูนา” กับข้าวอีสานจากปูนาจึงวางขายกันเพียบ

     ไฮไลท์สำคัญที่ชอบที่สุดในตลาดนัดเปือยน้อยแห่งนี้ก็คือ “แป้งขนมจีนจี่”ของแม่สมรัก แป้งหมักแผ่นกลมแบนเล็ก ๆ ปิ้งบนเตาถ่านจนพองฟู กัดกินแล้วเนื้อด้านในมีโพรงอากาศนิด ๆ รสอมเปรี้ยวหน่อย ๆ หอมแป้งหมัก ให้อารมณ์เหมือนกินขนมปังซาวร์โดที่ไฮโซเดี๋ยวนื้ชื่นชอบกัน ผมจึงขอนิยามเจ้าของกินนี้ให้เป็น “ซาวร์โดแห่งเปือยน้อย” ราคาย่อมเยาแค่แผ่นละ 5 บาท  (แม่สมรักษ์ โทร 093 454 0965) นี่คิดเลยนะว่าถ้าใส่หัวครีเอทีฟด้านอาหารลงไปอีกนิด ซาวร์โดแห่งเปือยน้อยที่ว่าจะสามารถเฉิดฉายกลายเป็นของกินประจำอำเภอได้ไม่ยาก  ส่วนใครที่แพ้หนุ่มหล่อขอกระซิบว่าข้างร้านแป้งจี่ มีรถเข็นขายไส้กรอกอีสานที่คนขายเป็นเขยเปือยน้อยฝรั่งมาดเข้ม ใครแพ้คนหล่อขอให้เลี่ยงเส้นทางนี้ ก่อนจะโดนขโมยหัวใจไว้ที่เปือยน้อย!

รีสอร์ตแห่งแรกของเปือยน้อย ถึงห้องจะเก่าแก่ แต่ไม่แล้งน้ำใจ

     หลังช็อปปิงเสร็จ ผอ.สน-สนธยา นามเสริฐ ชวนให้เข้าพักที่ “รีสอร์ตบ้านริมน้ำ” กิจการที่พักเล็ก ๆ ของท่าน แถมยังเป็นรีสอร์ตแห่งแรกของเปือยน้อย ขอแอบแซวว่าสภาพห้องพักก็เก่าแก่ไม่แพ้ปราสาทหิน 

     ภายในห้องพักมีเครื่องทำน้ำอุ่น 4800 วัตต์ ถือว่าโอเคเพราะทำให้น้ำอุ่นชวนอาบ ห้องนอนเล็กคับแคบแต่มีแอร์ที่เย็นพอใช้  ก็อย่างว่าแหละ อำเภอเล็ก ๆ แบบเปือยน้อย คงยังไม่สามารถมีธุรกิจที่พักรับรองหรู ๆ เหมือนในย่านอำเภอใหญ่ได้ ทว่ายังมีที่พักอีก 2-3 ที่ ที่เปิดใหม่กว่า น่าจะพอรองรับได้ดีกว่าถ้าเป็นคนติดสบาย

     แต่สิ่งที่ที่อื่นไม่มีเหมือนที่นี่ก็คือ ถ้าใครจะมาตักบาตรหน้าปราสาทเปือยน้อยในเช้าวันอาทิตย์ ทางรีสอร์ตเขาให้เข้าพักฟรีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับอำเภอ บอกเลยว่าโครตใจ  ผอ.สน พูดพร้อมรอยยิ้มว่า

     “รีสอร์ตผมมันเก่าไปหน่อย แต่ก็อยากให้มาดูความขาดเขินและน่าสงสารของพวกเรา ใครจะมาตักบาตรวันอาทิตย์เย็นวันเสาร์ผมให้เข้าพักฟรีได้ จะเอาแหเอาเบ็ดมาหาปลาในสระที่รีสอร์ตแล้วทำกับข้าวกินด้วยผมก็ไม่ว่านะ” 

     เห็นไหมว่าภายใต้ภาพลักษณ์ที่ไม่เข้าตาของคนที่ติดความซิวิไลซ์ กลับมีน้ำใจของคนพื้นที่ซ่อนอยู่ในนั้น พอได้ยินแบบนี้จึงแอบโทษตัวเองนิด ๆ รู้สึกผิดหน่อย ๆ  ที่ตอนแรกเข้าพักดันไปปรามาสสถานที่จากสภาพห้องพักที่เห็นด้วยตา

ความผูกพันทางใจระหว่างปราสาท พ่อปู่อุปฮาด และกลุ่มรักษ์ปราสาทเปือยน้อย 

     เย็นวันเดียวกัน ทีมงานเพจรักษ์ปราสาทเปือยน้อย นัดให้ไปร่วมจิบนมท้าลมหนาวที่ร้าน “บ้านสวนนมสด” ติดกับปั๊ม ปตท. ที่เพิ่งสร้างใหม่ ซึ่งเจ้าของร้านเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม และเพิ่งเปิดร้านได้หมาด ๆ ที่สำคัญเป็นร้านนมหนึ่งเดียวที่มีในเมืองเปือยน้อย ณ เวลานี้ 

     เหล่าอเวนเจอร์แห่งเปือยน้อยผู้พยายามปลุกเมืองให้มีสีสันรวมตัวกันพร้อมหน้า ทั้ง อ้อม-สุมาลี ทองยศ, น้อย-พิสิทธิ์ชัย กิมชัย, แปลก-พรพิเศษ ยนต์ดัน, ผอ.สน-สนธยา นามเสริฐ, ป้าสม-สมสมัย ทันบาล, มาดามหมัย-พิสมัย อูบิน และ ผอ.เกรียงศักดิ์ นามเสริฐ จึงได้ฟังเรื่องราวการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ วิธีหลอมรวมกับคนรุ่นเก่าในพื้นที่ แรงศรัทธาที่มีต่อปราสาทและพ่อปู่อุปฮาด เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ให้พวกเขาคิดประเพณีประดิษฐ์ของเปือยน้อยขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น การตักบาตรหน้าปราสาททุกเช้าวันอาทิตย์ บุญสรงกู่ ในช่วงขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ของทุกปี (ราว ๆ เดือนเมษายน) บุญใต้ประทีปบูชาปราสาทหิน ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ที่พวกเขาทำกันมายาวนานถึง 5 ปี ด้วยเป้าหมายอยากให้บ้านเกิดเจริญขึ้นอยางยั่งยืน อ้อมเจ้าของเพจและคนเริ่มเคลื่อนเมืองในนามกลุ่มรักษ์ปราสาทเปือยน้อยเล่าความในใจให้ฟังว่า 

     “ระหว่างทางมันโคตรยากเลยค่ะ ใจพวกเรามันมีแผ่วลงบ้าง แต่พวกเรามีความรู้สึกเสมอว่าเหมือนมีพันธะผูกพันบางอย่างกับปราสาทเปือยน้อย กับพ่อปู่อุปฮาด เวลาที่เราเฟลมันจะเหมือนมีบางอย่างคอยช่วยเราอยู่ และแรงฮึดสำคัญก็คือพวกเรารู้ว่าสิ่งที่ทำมันจะส่งผลดีกับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงพยายามทำมันให้ดีที่สุดและอยากให้ประสบความสำเร็จให้ได้”

     เราก็ได้แต่ส่งกำลังใจ อวยพรให้ความตั้งใจอันดีของพวกเขาสำเร็จในเร็ววัน

ตักบาตรหน้าปราสาทหินโบราณ ชมหน้าบันคชลักษมี สวัสดีคู่เสี่ยวคู่แรกของขอนแก่น

     6 โมงเช้าวันอาทิตย์อากาศหนาวจับใจ ขับรถจากรีสอร์ตบ้านริมน้ำไปสักหน่อยก็ถึงตัวปราสาทเปือยน้อย ผมเตรียมผ้าขาวม้าไหมมาคาดเบี่ยงพร้อมเสบียงใส่บาตรเพื่อให้ดูกลมกลืนกับชาวบ้านที่แต่งชุดผ้าไทยกันมาอย่างจัดเต็ม ไม่นาน พระสงฆ์ก็เดินเรียงแถวมารับบาตรที่หน้าปราสาทหิน ถือเป็นภาพทำบุญสุดประทับใจ  

     ความว้าวมันมาบังเกิดตรงที่ หนึ่งในผู้ใส่บาตรคือ แม่อ้อย-พนิดา เสถียรจิตร วัย 59 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ผูกเสี่ยวกลุ่มแรกของประเพณีผูกเสี่ยวที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นในจังหวัดขอนแก่น เรื่องนี้ต้องตะโกนให้คนขอนแก่นได้รู้กันสักหน่อยว่า เดิมทีประเพณีผูกเสี่ยวมีอยู่ในวัฒนธรรมอีสานก็จริง แต่คนที่หยิบประเพณีผูกเสี่ยวขึ้นมาจัดเป็นเรื่องเป็นราว คือ นายเลื่อน รัตนมงคล ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเปือยน้อย ณ เวลานั้น เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในหนังสือ “ผูกเสี่ยว”  ว่าจัดขึ้นในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2523 และมีคู่เสี่ยวจำนวน 200 คู่ จึงเรียกได้ว่าประเพณีผูกเสี่ยวที่เป็นคำขวัญจังหวัดขอนแก่นนั้น เริ่มต้นขึ้นที่อำเภอเปือยน้อยแห่งนี้นี่เอง ผมจึงขอให้แม่อ้อยวีดีโอคอลหาคู่เสี่ยวคือแม่ต้อย ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ภาพคู่เสี่ยวทั้งสองท่านพูดคุยกันอย่างสนิทสนมผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มเห็นแล้วก็ต้องยิ้มตาม

     พูดถึงเรื่องผูกเสี่ยว ยังมีอนุสรณ์อย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าคนเปือยน้อยพยายามผลักดันเรื่องนี้ นั่นก็คือ “ศาลาผูกเสี่ยว” ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับปราสาท เสียดายที่ถูกปล่อยให้ผุพังไปหน่อย 

     อ้อม น้อย และแปลก พาผมเดินชมปราสาทหินเปือยน้อย ชี้ให้เห็นความงดงามของศิลปะตามหน้าบันเทวาลัยที่สะท้อนรูปแบบศิลปะ กระทั่งไปถึงจุดไฮไลท์ของปราสาทก็คือ หน้าบันรูป “คชลักษมี” ที่เป็นรูปพระลักษมี พระชายาของพระนารายณ์ประทับนั่ง หัตถ์ 2 ข้างถือดอกบัวตูม และมีช้าง 2 เชือกยื่นงวงเข้าหากันและพ่นน้ำ โดยปรกติหน้าบันนี้จะต้องอยู่ที่ประตูฝั่งทิศตะวันออก ใครได้เดินลอดผ่านจะประสบแต่ความสุข ความอุดมสมบูรณ์ ทว่าหน้าบันคชลักษมีที่ปราสาทเปือยน้อยดันไปอยู่เหนือประตูหลอก ด้านหลังทางทิศตะวันตกที่ไม่สามารถเดินลอดได้ กลายเป็นเรื่องให้ชาวบ้านเขาเล่าลือกันว่า อาจเพราะเป็นแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้เปือยน้อยไม่เจริญไม่อุดมสมบูรณ์สักที 

สารพัดแหล่งผักอินทรีย์ ตามวิถีคนเปือยน้อย 

     จากปราสาทเปือยน้อย แปลกอาสานำทางไปที่สระหนองแวง สระขุดฝีมือชาวบ้าน โดยมีอดีตผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็คือคุณพ่อของมาดามหมัยเป็นผู้นำ รวมไปถึงผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันก็ได้จัดสรรพื้นที่ริมตลิ่งให้ชาวบ้านได้ทำเป็นพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์  แปลงผักก็เลยสลับชั้นเป็นขั้นบันไดตามความเอียงของตลิ่ง มุมนี้ถ่ายภาพสวยมาก ชวนให้นึกถึงแปลงผักริมตลิ่งแม่น้ำโขงตอนไปเที่ยวหลวงพระบางเมื่อหลายสิบปีก่อน และอย่างที่เล่าไปตอนแรกว่าช่วงนี้เป็นฤดูกินปูนา ผักที่ปลูกในแปลงส่วนใหญ่ก็เลยเป็นต้นหอมกับผักชีลาว เพราะลูกค้าชาวบ้านแถวนี้เขาจะซื้อไปอ่อมปูกัน 

     ขากลับจากแปลงผักออกมาที่ถนนหลักยังสังเกตเห็นว่า หน้าบ้านที่ติดถนนจะมีกระถางปลูกต้นหอมผักชีเรียงรายอยู่ ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันเล่าให้ฟังว่าทำตามนโยบาย “1 หมู่บ้าน 1 ขุมชน 1 ถนนกินได้” ที่น้อมนำแนวพระราชดำริของสำเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มาใช้ ถือว่าใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

     เที่ยงวันพอดี แปลกชวนเราไปกินข้าวเที่ยงกันที่ “ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรสวนพอใจ” ของป้าสม-สมสมัย ทันบาล สวนป้าสมน่าสนใจตรงที่แกเลือกปลูกผักกูดและกระจับ ซึ่งไม่ใช่ผักพื้นเมืองในเขตเปือยน้อย แต่ก็ทำจนสำเร็จแถมมีตลาดต้องการ เรียกได้ว่าขายดีแบบยืนหนึ่งไร้คู่แข่งในพื้นที่

     พอชมสวนเสร็จ พาข้าวบ้าน ๆ ก็วางลงบนแคร่ไม้ไผ่สำหรับรับรองแขก มีทั้งหมกปลาดุกฝีมือป้าสม ปลานิลผัดขึ้นช่ายฝีมือของแปลก แจ่วบองพร้อมผักสด ผักสดที่ว่านี่เขาเลือกเสิร์ฟผักบัตเตอร์เฮดออร์แกนิกเชียวนะ แถมยังเป็นผักอินทรีย์อีกแปลกจึงบอกว่านั่นเป็นผักของทับทิมเพื่อนของเขา 

     หลังจบมื้ออาหารก็เลยไปปิดทริปเปือยน้อยที่ “ทับทิมฟาร์มผัก” ของ ทับทิม-จิราพัชร ปะตาทะกัง  ผักสลัดออร์แกนิกที่เธอปลูกกำลังงาม แถมมีคนสั่งจองแทบจะทั้งหมดแล้ว ทับทิมเล่าว่าเมื่อก่อนเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ส่วนแม่ของเธอทำอาชีพขายผักในตลาด เวลาทับทิมไปช่วยแม่ขายผักจะเห็นแม่ค้าที่รับผักมาจากที่อื่นซึ่งใช้สารเคมีมือเปื่อยจนต้องรักษาเพราะแพ้สารเคมีจากการหยิบจับผัก ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้อยากปลูกผักปลอดภัยต่อสุขภาพให้คนในพื้นที่ได้กิน 

     ทับทิมตัดสินใจลาออกจากงานที่โรงพยาบาลมาทำแปลงผักออร์แกนิกแบบจริงจัง จนผักได้รับการันตีมาตรฐานออร์แกนิก และกำลังตั้งใจจะขยายเครือข่ายให้มากขึ้น นับเป็นโชคดีของเปือยน้อยที่มีเกษตรกรหัวใจสีเขียว เพราะวัตถุดิบอาหารปลอดภัยมันคือต้นทางสุขภาพดีของผู้บริโภค

     ก่อนโบกมือลาเปือยน้อย ทับทิมจัดผักออร์แกนิกเป็นของฝากให้ติดไม้ติดมือกลับบ้าน แปลกจัดข้าวหอมนิลอินทรีย์ที่เขาปลูกเองใส่ถุงให้เป็นของฝาก บอกตามตรงว่าทริปเปือยน้อยครั้งนี้ประทับใจมาก ขอชื่นชมความจริงใจและความตั้งใจจริงในการสร้างสรรค์เมืองของทีมงานรักษ์ปราสาทเปือยน้อย พวกเขาทำให้ผมรู้สึกว่าเมืองเล็ก ๆ นี้มีความหวังที่จะพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืนแบบมีรากเหง้าไม่ไร้แก่นสาร

     ถ้าใครอยากสัมผัสความน่ารักของเมืองแห่งนี้ แนะนำว่าลองสลัดภาพลวงตาจากความสะดวกสบายในเมืองศิวิไลซ์ออกไปก่อน แล้วปักหมุดเดินทางไปพักที่เปือยน้อยสักครั้ง ไปชื่นชม ไปอุดหนุนสินค้าชุมชน ไปคุยกับผู้คน และลองเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีดีงามที่คนเปือยน้อยเขาสร้างสรรค์ขึ้น เชื่อเหลือเกินว่าคุณจะตกหลุมรักอำเภอแห่งนี้ได้ไม่ยาก

     ติดตามความเคลื่อนไหวทุกกิจกรรมในเปือยน้อย หรือสอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยว อ.เปือยน้อยได้ที่ 

เพจเฟซบุ๊ก รักษ์ปราสาทเปือยน้อย

เรื่อง : สิทธิโชค ศรีโช  ภาพ : กานต์ ตำสำสู

Share :