กาลครั้งนี้ที่บ้านไผ่ ชุมทางการคมนาคมสำคัญของภาคอีสาน

ชุมทางแห่งอีสานในอดีตที่เต็มไปด้วยเรื่องชวนค้นหา และกำลังจะพัฒนาสู่การเป็นชุมทางการค้าการเดินทางที่สำคัญอีกครั้ง

     หลังเหตุไฟไหม้ใหญ่ ในปี พ.ศ.2506 “อำเภอบ้านไผ่” ชุมทางการคมนาคมสำคัญแห่งหนึ่งของอีสานในอดีต ก็เปลี่ยนรูปแบบอาคารจากไม้มาเป็นคอนกรีตสุดโก้สไตล์อาร์ตเดโค และโมเดิร์น ตามแบบยุค 70 ที่เหล่าพ่อค้าวาณิชสมัยนั้นสร้างขึ้นและยังอยู่มาถึงทุกวันนี้ มู้ดแอนด์โทนของบ้านไผ่จึงย้อนยุคหน่อย ๆ เหมือนกำลังเดินเล่นอยู่ในอดีต และเต็มไปด้วยของอร่อย

     เมื่อก่อนบ้านไผ่เป็นหมูบ้านเล็ก ๆ ที่เหมือนถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่ เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยขยายเส้นทางจากโคราชมาขอนแก่น บ้านไผ่จึงกลายเป็นชุมทางการคมนาคมของอีสาน และถูกอวยยศเป็นอำเภอที่ความเจริญทุกอย่างมาจุ้มรวมกัน ทั้งร้านค้า โรงฝิ่น โรงสี โรงแรมที่พัก โรงภาพยนตร์ เหลาจีน โรงเรียนจีน สมาคมพ่อค้าชาวจีน  หรือแม้แต่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสาขาแรกของภาคอีสานก็เปิดขึ้นที่นี่ ความป๊อบปูล่าร์ของบ้านไผ่ ทำให้ผู้คนจากทั่วสารทิศหลากเชื้อชาติเดินทางมาปักหลักตั้งรกราก ทว่าการตัดถนนมิตรภาพสายใหม่โดยไม่ต้องเข้าเมือง ส่งผลให้บ้านไผ่กลายเป็นเมืองผ่าน และซบเซาลง  

     แม้ว่าลมหายใจของบ้านไผ่ช่วงนั้นจะรวยรินสักหน่อย แต่ก็ค่อย ๆ ฮึดแรงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความพยายามของผู้คนในอำเภอ รวมถึงแผนการพัฒนาที่เล็งพัฒนาจุดเด่นของอำเภอ เช่น การคมนาคม การผลิตสินค้าแปรรูป การผลิตสินค้าการเกษตร การพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ และที่สำคัญก็คือ คนบ้านไผ่รักบ้านเกิดตัวเองมาก พยายามช่วยกันคนละไม้ละมือสร้างบ้านแปงเมืองเท่าที่จะทำได้  จึงขอชวนไปดูกันว่าในพอศอนี้บ้านไผ่จะมีทิศทางการพัฒนาเมืองไปอย่างไร

พักตรงนี้ที่บ้านไผ่ กับโรงแรมหลากสไตล์ในเมืองเก่า

ด้วยบรรยากาศเมืองที่ไม่วุ่นวาย กะทัดรัดแต่ครบครัน บ้านไผ่จึงเหมาะจะหลบมาพักผ่อน ก่อนเดินทางไปยังจุดอื่น ๆ 

ที่พักในเมืองนี้มีให้เลือกหลายสไตล์  เริ่มตั้งแต่ “โรงแรมวันชัย” โรงแรมอาคารคอนกรีตแห่งแรกของบ้านไผ่ ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 มาจนถึงทุกวันนี้ ภายใต้โครงสร้างตึกสไตล์โมเดิร์นยุค 70 สวยงามเปี่ยมเสน่ห์ ด้วยดีไซน์เหล็กราวบันได ฟาซาด หรือ ซุ้มหน้าต่างทรงโค้ง ทำให้อาคารคอนกรีตดูอ่อนโยนขึ้นในที ช่วงเย็นเวลาเปิดไฟสีส้มยิ่งงดงามเรื่อเรือง ห้องพักด้านในรีโนเวทใหม่ให้ร่วมสมัย ราคาประหยัด สะอาด พักสบายภายใต้บรรยากาศคลาสสิก

อีกแห่งคือบูติกโฮเทล ในนาม “อินภาวา” ที่สามารถคว้ารางวัลเชิงวัฒนธรรมจากงาน The Thailand Boutique Awards 2010 และรางวัลดีเด่นด้านสถาปัตยกรรมและงานออกแบบจากงานเดียวกันในปี 2011 อาคารรับรองแขกส่วนหน้ามีแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของสิมอีสานโบราณ  โครงสร้างของโรงแรมใช้วัสดุเป็นไม้ผสมคอนกรีต ราวกันตก แผงบังแดด และประตูไม้บริเวณห้องจัดเลี้ยงภาวาภิรมย์ชั้นล่างของโรงแรม ถือว่าเป็นหนึ่งในเศษเสี้ยวประวัติศาสตร์ของบ้านไผ่ เพราะทำจากไม้ระเบียง “โรงเรียนป้วยฮั้ว” โรงเรียนจีนเก่าแก่ในอำเภอนี้ ซึ่งคุณแม่ของเจ้าของโรงแรมเป็นศิษย์เก่า พอทางโรงเรียนจะรีโนเวทอาคารเป็นคอนกรีต เจ้าของก็เลยซื้อมาและนำมาปรับใช้กับโรงแรม  ภายในห้องปูพื้นด้วยไม้ มีห้องให้เลือกพักทั้งห้องธรรมดา และห้องสวีท บรรยากาศในห้องสะอาดสะอ้านดีไซน์เรียบหรูอยู่สบาย

ตอนเช้าทางโรงแรมจะมีบุฟเฟต์ให้รับประทานได้ โดยจะจัดขึ้นที่บริเวณ “ลานคำหอม” ที่ผู้ตั้งชื่อให้คือ “ลุงคำสิงห์ ศรีนอก” หรือ “ลาวคำหอม” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์  อาหารที่เสิร์ฟมีความหลากหลายรสชาติดี ซึ่งคนที่ไม่ใช่แขกพักโรงแรมก็สามารถเข้ามาทานบุฟเฟต์มื้อเช้าได้ในราคา 140 บาท ต่อท่านเท่านั้น (ราคาอาจปรับเปลี่ยนตามเหมาะสม)

อีกโรงแรมในบ้านไผ่ที่น่าพัก ก็คือ Jasper Hotel โรงแรมสไตล์โมเดิร์นยุคใหม่ มีฟังก์ชันและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน  ทั้งสระว่ายน้ำ คาเฟ่สุดหรูอย่าง Copper Café ที่ตกแต่งด้วยโทนสีพิงค์โกลด์ของทองแดง มีทั้งกาแฟและเบเกอรีไว้บริการ ด้านหน้ายังมีร้านอาหารของโรงแรมไว้รับรองแขกอีกด้วย ห้องพักด้านในสะอาดสะอ้าน กว้างขวาง พักสบาย ถือว่าเป็นอีกหมุดหมายพักผ่อนที่ผู้มาพักจะประทับใจ  เอาเป็นว่าชอบที่พักแบบไหน ก็แวะเวียนมาเลือกพักกันได้อย่างสบายใจ 

จากโรงพยาบาลเก่า สู่ ศูนย์สุขภาพครบวงจรเพื่อคนบ้านไผ่

     พื้นที่ 8 ไร่กว่ากลางอำเภอ เดิมเป็นโรงพยาบาลบ้านไผ่ ปัจจุบันโรงพยาบาลย้ายไปอยู่โซนนอกเมือง อาคารโรงพยาบาลเก่าจึงถูกทิ้งร้าง ถ้าไม่ทำอะไรก็จะต้องคืนพื้นที่ให้กับราษฎร์พัสดุ คนบ้านไผ่จึงหารือกันว่าจะพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจร นำโดย คุณแม่วิภาพร ฉัตรวาณิชเสถียร ประธานกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลบ้านไผ่ และคณะกรรมการพัฒนาโรงพยาบาลอีกหลายท่าน ที่จะระดมทุนปลูกสร้าง เมื่อแล้วเสร็จก็จะส่งมอบให้โรงพยาบาลบ้านไผ่ดูแลต่อไป  

     คุณแม่วิภาพรเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่า ตอนนี้ในพื้นที่มีส่วนที่ยังเปิดใช้งาน ได้แก่ ศูนย์กายภาพบำบัด แพทย์แผนจีนและแพทย์แผนไทย ส่วนตัวอาคารโรงพยาบาลเดิมได้ถูกรื้อถอนเพื่อเตรียมสร้างศูนย์สุขภาพครบวงจร ที่จะมีทั้งศูนย์ทันตกรรม ศูนย์สุขภาพไว้ดูแลผู้ป่วยที่ไม่พักค้าง อาคาร 100 ปี ชาติกาลหลวงปู่นิล สำหรับใช้จัดงานสาธารณประโยชน์ เช่น การประชุม จัดเลี้ยง ฯลฯ มีสวนสาธารณะให้คนบ้านไผ่ใช้ออกกำลังกาย และตลาดนัดสีเขียวไว้ให้เกษตรกรที่ปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีมาวางขาย ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการระดมทุนจากภาคเอกชนและประชาชนในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อสุขภาพที่ดีของคนบ้านไผ่ โดยน่าจะระดมทุนกันใน พ.ศ.2568 นี้เอง ใครสนใจร่วมทำบุญก็เชิญสนับสนุนได้ตามศรัทธา

บ้านไผ่เมืองกินเส้น

     บ้านไผ่เต็มไปด้วยอาหารอร่อย การันตีด้วยการได้รับรางวัลมิชลินบิบกูร์มองต์ ของร้านลาบ “โสเจ๊งโภชนา” แถมยังเป็นแหล่งรวมของกินประเภทเส้นอีกด้วย เพราะที่นี่มีตั้งแต่กวยจั๊บเวียดนามขายช่วงเช้า ร้านดัง ๆ เช่น ร้านแหนมเนืองครัวบัวเรียน, ร้านเจ๊แบ๋ ฯลฯ เอกลักษณ์ของกวยจั๊บบ้านไผ่ ก็คือจะใช้กวยจั๊บเส้นใหญ่ ๆ บางคนอาจจะเรียกว่า “ข้าวเปียก” 

     ถัดมาคือเส้นก๋วยเตี๋ยว เพราะเป็นเมืองชุมทางมาก่อน ในอดีตบ้านไผ่จึงมีคนทำเส้นก๋วยเตี๋ยวขายอยู่หลายเจ้า มาถึงวันนี้ก็ยังพอมีเหลือให้ได้เลือกชิม เช่น ร้าน “กวงตัง” เสิร์ฟเส้นบะหมี่สไตล์กวางตุ้งเส้นเรียวเล็กที่ทำเอง หรือ “ก๋วยเตี๋ยวในสวนคุณดาว” ที่ทำเส้นบะหมี่ไข่เอง เมื่อก่อนร้านนี้เป็นร้านบะหมี่เจ้าเก่าแก่ของคนจีนแต้จิ๋วในบ้านไผ่แต่ปิดกิจการไป กระทั่งหลานชายเจ้าของตำรับกลับมาเปิดร้านขายอีกครั้ง ลมหายใจของเส้นบะหมี่ไข่เจ้าเก่าในตลาดบ้านไผ่จึงยังได้ไปต่อ 

     อีกเมนูเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ไปบ้านไผ่แล้วต้องไม่พลาดก็คือ “ผัดไทยบ้านไผ่” หรือผัดไทยสีชมพูจากซอสเย็นตาโฟของคนที่นี่ รสเค็มหวานเผ็ด แล้วมาบีบมะนาวเพิ่มเปรี้ยวเอาทีหลัง กินแล้วจะติดใจ

     อาหารประเภทเส้นที่ยืนยงคงกระพันคู่คนบานไผ่ เห็นจะเป็นเส้นขนมจีน เพราะอำเภอนี้มีโรงผลิตเส้นขนมจีนหลายแห่ง และทำสืบทอดกันมายาวนาน ร้านเส้นขนมจีนเจ้าดังที่คนพื้นที่รู้จักกันดีคือ “ร้านขนมจีนแม่เหี่ยน” ปัจจุบันเขาขยับขยายโรงงานใหญ่โต แอบถามไปว่าต่อวันในอำเภอบ้านไผ่มียอดสั่งซื้อขนมจีนกันกี่ กก. คำตอบก็คือ 400 กิโลกรัม ต่อวันเลยเชียว 

จุ้มอาหารแปรรูป

     ตามที่ยุทธ์ศาสตร์พัฒนาอำเภอวิเคราะห์ไว้ว่า จุดเด่นหนึ่งของบ้านไผ่คือเป็นฐานการผลิตอาหารแปรรูปมากมาย ซึ่งก็จริงตามนั้น เอาแค่เฉพาะโหมดอาหารก็มีตั้งเยอะ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าซิกเนเจอร์ของอำเภออย่างกุนเชียงก็มีหลายเจ้าให้เลือก ทั้ง ลิ้มซินเฮียง, เฮงง่วนเฮียง, กุนเชียงน้ำผึ้ง ฯลฯ ที่ผลิตขายทั่วประเทศไทย โรงงานผลิตไส้กรอกอีสานแม่ต่าง ไส้กรอกอีสานเนื้อแน่นผลิตส่งขายทั่วประเทศ โรงงานผลิตกระเทียมดอง โรงผลิตขนมปังบันเบอร์เกอร์และแป้งพิซซ่าของร้าน Pizza the Gang ที่ส่งขายทั่วประเทศ หรือจะเป็นโรงผลิตที่ย่อมลงมาเสกล SMEs อย่าง “ปลาร้าแดดเดียวแม่ละเอียด” รสชาติอร่อยเลื่องชื่อ และอยู่ในหน้าสื่อให้พบเห็น แล้วยังมีโรงคั่วกาแฟของคนจีนไหหลำที่คั่วแบบดั้งเดิมสไตล์โกปี้ของร้านสะอิ้งโอชา ที่ส่งขายไปยังร้านกาแฟแถบภาคใต้อีกด้วย บอกเลยว่าที่เล่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ไม่ได้เอ่ยถึงยังมีอีกเพียบ

เดินเล่นตลาดเก่า บอกเล่าตลาดใหม่ และความเคลื่อนไหวของศูนย์การค้าที่กำลังจะเกิด

     ตลาดบ้านไผ่มีหลายรูปแบบ เริ่มต้นจากตลาดเช้าที่มีวัตถุดิบพื้นบ้านวางขายแบกะดิน และวัตถุดิบอาหารแบบมาตรฐาน เริ่มต้นตั้งแต่เช้ามืดมาจนถึงราว  ๆ 10 โมงก็เริ่มวาย ร้านที่ได้ใจในฐานคนชอบทำอาหารมาก ๆ ก็คือ เขียงหมูร้านน้องเมย์ เพราะเจ้านี้นางละเอียดลออตั้งแต่ไปเลือกซื้อหมูจากฟาร์มเอง แล้วนำมาบุชเชอร์เป็นส่วน ๆ วางขายแบบครบครัน แล้วยังให้คำแนะนำลูกค้าได้ชัดเจนว่าควรเลือกซื้อส่วนไหนไปทำอะไรกินจึงจะอร่อยแบบมือโปร

     ถัดจากตลาดเช้า มีตลาดที่เปิดทั้งวันคือตลาดสดเทศบาล 3 เมื่อก่อนตลาดนี้คือ “ตลาดหลวง” ดาวทาวน์เดิมของคนบ้านไผ่ แต่พอรีโนเวทแล้วเสน่ห์คลายลงไปเยอะ แถมเจอปัญหานกพิราบ ทำให้ไม่ค่อยมีคนมาเช่าแผง แต่ก็ยังมีหลายเจ้าที่ยังยืนหยัดขายของให้ซื้อหาได้ระหว่างวัน ร้านที่เด็ด ๆ ยกให้ ร้านโชห่วยเจ๊แจ๋ว เจ้านี้เขาชอบทำกับข้าว วัตถุดิบต่าง ๆ ที่วางขายในร้านจึงผ่านการเลือกสรรมาอย่างดี คนบ้านไผ่จึงสามารถหาซื้อวัตถุดิบดี ๆ ได้จากที่นี่ เช่น ไชโป๊วหวานเจ็ดเสมียนจากราชบุรี ปลาร้าสารพัดยี่ห้อ หน่อไม้เผ่าลอกเปลือก ฯลฯ  ข้าง ๆ กันมีร้านขายพริกแกงเก่าแก่ที่ขายมานานกว่า 60 ปี เจ้าของเป็นคนชุมพร ซึ่งพริกแกงร้านนี้เป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอาหารหลายอย่างของคนบ้านไผ่ ที่ทำให้อาหารมีกลิ่นรสเฉพาะไม่เหมือนใคร 

     ทุกเย็นราวบ่ายสามโมงเป็นต้นไป บริเวณไนท์บาซาร์บ้านไผ่เดิมจะมีตลาดเย็นให้ซื้อหาอาหารสำเร็จรูปได้ และทุกเย็นวันอาทิตย์ยังมีถนนคนเดินบริเวณถนนเจนจบทิศหน้าที่ว่าการอำเภอ ถ้าแวะไปต้องไม่พลาดชิม “ขนมเบื้องญวณเจ๊จง” แป้งบางกรอบเป็นเจ้าเก่าที่ขายมายาวนาน (เสียดายวันที่แวะไปเจ๊แกไม่มา เลยไม่มีภาพมาอวด)

     นอกจากตลาดแล้ว บ้านไผ่ยังมีห้างค้าปลีกค้าส่งท้องถิ่นของคนในพื้นที่อย่าง “เกียรติสินโฮลเซล” ซึ่งเริ่มต้นจากร้านขายส่งในอำเภอและเริ่มพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ เป็นห้างสรรพสินค้าที่มีสินค้ามากมายหลายหลาก  ในปี 2568 นี้ เกียรติสินยังเพิ่งรีโนเวทพื้นที่ไปหมาด ๆ เพื่อรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แชลเลนจ์ว่าห้างสรรพสินค้าระดับอำเภอที่ปรับปรุงใหม่จะตอบรับกับคนรุ่นใหม่ของบ้านไผ่มากน้อยแค่ไหน และอีกอย่างก็คือเดือนพฤษภาคม 2568 นี้กิจการเขาจะครบรอบ 65 ปี ต่อไปคนบ้านไผ่ก็จะมีห้างสรรพสินค้าของคนพื้นที่ไว้จับจ่ายใช้สอยไม่ให้เงินรั่วไหลออกนอกอำเภอ 

     ได้ข่าวแว่วมาว่ากำลังจะมีศูนย์จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเจ้าใหญ่มาเปิดในบ้านไผ่ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจกระทบกับกลไกการค้าขายในพื้นที่  จึงถือเป็นโจทย์ท้าทายของพ่อค้าแม่ขายในบ้านไผ่อยู่พอควร ว่าจะตั้งรับและสู้กลับอย่างไร

เส้นทางรถไฟสายใหม่ สู่ความหวังการกลับมาทวงบัลลังก์ศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งแห่งอีสาน

     บ้านไผ่ เคยเจริญขึ้นจากรถไฟ และไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ รถไฟก็อาจนำความเจริญมาให้อำเภอแห่งนี้อีกครั้ง เพราะกำลังจะมีสถานีรถไฟเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่สายใหม่จากขอนแก่นไปสู่นครพนม จากที่ได้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของแขวงทางหลวงขอนแก่นที่ 3 (บ้านไผ่) จึงได้รู้ว่า ทางรถไฟจะตัดผ่านพื้นผิวถนนสาย 2228 หรือถนนสายเดียวกันที่ผ่านหน้าโรงพยาบาลใหม่  และทางกรมทางหลวงมีแผนจะต้องทำถนนข้ามทางรถไฟด้วย โดยถนนสายนี้ปัจจุบันเป็นสองเลน แต่มีแผนขยายเป็น 4 เลน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2568 ส่วนสถานีและทางรถไฟที่จะเชื่อมต่อไปยังนครพนม ตอนนี้เริ่มทำการเคลียร์พื้นที่ ขุดเจาะ ถมคันทางรถไฟบ้างแล้ว  ว่ากันว่าเมื่อแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน บ้านไผ่จะกลายเป็นฮับโลจิสติกของอีสานเหนือและความเจริญต่าง ๆ อาจหลั่งไหลมาที่อำเภอแห่งนี้อีกครั้ง ก็คงต้องรอดูกันต่อไป

คนบ้านไผ่ กอดบ้านไผ่

     ช่วงเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา คนบ้านไผ่ภายใต้นามกลุ่ม “กอดบ้านไผ่” ได้ร่วมกันจัดงานชื่อ “บ้านไผ่พู้นเด้2024” ในคอนเซปต์ “งานอวดเอ้แนวกินแนวเก๋อำเภอบ้านไผ่” ขึ้น เพราะทางผู้จัดเล็งเห็นว่า คนบ้านไผ่เริ่มได้รับผลกระทบจากความห่างเหินระหว่างวัย การที่คนพื้นที่ไม่รู้จักศักยภาพพื้นที่ของตัวเอง และการล้มหายตายจากของภูมิปัญญา หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น รากเหง้าของคนบ้านไผ่อาจหายไปและไม่มีทางกู้กลับมาได้

     ทีมจัดงานจึงใช้วิธีคิดแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาออกแบบงานอีเวนต์ที่ทุกคนในอำเภอได้มีส่วนร่วมใช้ความสามารถที่มีมาจัดงานไปพร้อมกัน เป็นการรวมใจผู้คนบ้านไผ่ให้กลับมาเรียนรู้อยู่ร่วม มากอด และทำความรู้จักบ้านตัวเองอีกครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากภาคเอกชนในพื้นที่ และงบประมาณสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดขอนแก่น บพท. และ KKTT สร้างปรากฎการณ์เป็นงานอีเวนต์ที่ตุ้มโฮมทุกคนในอำเภอมาเป็นเจ้าบ้าน เป็นออร์แกนไนซ์เซอร์ ซึ่งความสำเร็จของงานนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการเกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นในอำเภอเป็นครั้งแรก แต่มันคือการกระชับความสัมพันธ์ของคนในอำเภอให้เข้ามารู้จัก เรียนรู้ และปลูกความรักความหวงแหนบ้านเกิดเมืองนอนขึ้นในใจของคนบ้านไผ่ทุกรุ่นที่เข้ามาร่วมงานกัน เพราะเมื่อเกิดความรักแล้ว การกอดเมืองเพื่อพัฒนาเมืองไปอย่างไม่ไร้รากเหง้า คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

     Wind of Change พัดผ่านอำเภอบ้านไผ่อีกครั้ง เริ่มมีความหวังอีกครา และน่าจะไปได้ดี เพราะภายใต้การพัฒนา มีฟันเฟืองชิ้นสำคัญนั่นคือหัวใจและสำนึกรักบ้านเกิดของคนในพื้นที่ เป็นแรงหมุนเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงบ้านไผ่ให้พัฒนาไปข้างหน้า อย่างไม่หลงลืมรากเหง้าความเป็นตัวตนของพวกเขา เพื่อบ้านไผ่ บ้านเกิดเมืองนอนที่พวกเขารักอย่างสุดหัวใจ

เรื่อง : สิทธิโชค ศรีโช  ภาพ : กานต์ ตำสำสู

Share :